ความสุขสัมบูรณ์และความสุขสัมพัทธ์ (ความสุขเปรียบเทียบ)
ใ
นเวลาที่นึกถึงเรื่องสภาพชีวิตแห่งความสุข อาจารย์โทดะ นายกสมาคมคนที่ 2 เคยชี้นำว่า สำหรับความสุขแล้วมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ ความสุขสัมพัทธ์กับความสุขสัมบูรณ์
ที่เรียกว่า ความสุขสัมพัทธ์ หมายถึง สภาพที่พึงพอใจทางด้านวัตถุสิ่งของ หรือความอยากปรารถนาของเราได้รับการเติมเต็ม แต่สำหรับความอยากปรารถนานั้นก็ไม่มีขอบเขตจำกัด สมมติว่า ณ ช่วงเวลาหนึ่งจะดูเหมือนพอใจแล้วก็ตาม แต่ลักษณะเช่นนี้จะไม่ดำรงอยู่ตลอดไป
ในทางตรงกันข้าม ที่เรียกว่า ความสุขสัมบูรณ์นั้น หมายถึง สภาพชีวิตที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หรือไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพียงแค่การได้มีชีวิตอยู่ก็มีความสุขถึงที่สุดแล้ว
อาจารย์โทดะ นายกสมาคมคนที่ 2 เคยสอนไว้ว่า ที่สุดของความศรัทธานั้นก็คือ การได้มีชีวิตอยู่ในตัวของมันเองก็คือความสุขสนุกสนาน อยากให้แต่ละคน ๆ ได้รับความสุขสัมบูรณ์เช่นนี้โดยเร็วที่สุด
พระนิชิเร็นไดโชนินสอนว่า “ทรัพย์สมบัติทางกายเหนือว่าทรัพย์สมบัติทางคลัง แต่ทรัพย์สมบัติทางใจเป็นอันดับหนึ่งยิ่งกว่าทรัพย์สมบัติทางกาย” (ธรรมนิพนธ์เรื่องจักรพรรดิซุชุน หน้า 1173) คำว่า “ทรัพย์สมบัติทางคลัง” หมายถึง ความมั่งคั่งทางวัตถุสิ่งของ เช่น มีเงินมีทอง เป็นต้น ส่วนคำว่า “ทรัพย์สมบัติทางกาย” หมายถึง สุขภาพร่างกายและฝีมือหรือความรู้ที่ติดตัวมา ตรงกันข้ามกับสิ่งเหล่านี้ คำว่า “ทรัพย์สมบัติทางใจ” ก็คือ ความอุดมสมบูรณ์มั่งคั่งที่ได้สร้างขึ้นในชีวิตของเราเอง กล่าวคือเป็นเรื่องของบุคลิกลักษณะ ปัญญา และสภาพชีวิต พระนิชิเร็นไดโชนินสอนว่า จงสร้าง “ทรัพย์สมบัติทางใจ” ที่ว่านี้ ตรงกับสภาพชีวิตของความสุขสัมบูรณ์นั่นเอง
นอกจากนี้ความสุขสัมบูรณ์ที่ว่านี้ ยังหมายถึงสภาพชีวิตในลักษณะของ “สถานที่ซึ่งปวงสรรพสัตว์มีความสุขสำราญ” ที่พุทธธรรมได้สอนเอาไว้ ในคำสอนชั่วคราวก่อนสัทธรรมปุณฑริกสูตรได้เทศนาไว้ว่า โลกที่พวกเราอาศัยอยู่นี้เป็นสหาโลก (โลกแห่งขันติ) แต่ในสัทธรรมปุณฑริกสูตรได้ชี้ให้รู้ว่า สหาโลกนี้เองที่เป็นสถานที่ซึ่งประชาชนจะมีความสุขสำราญ
แน่นอนตราบใดเท่าที่ประชาชนยังอาศัยอยู่ในสหาโลก ในชีวิตก็จะต้องพบเจอกับความยากลำบากนับประการ แต่ถ้าเปรียบเรื่องนี้กับการปีนเขาแล้ว หากเราเป็นผู้ที่มีพละกำลังแข็งแกร่ง แม้ว่าจะต้องแบกสัมภาระหนักขึ้นไปด้วย ก็สามารถปีนขึ้นเส้นทางบนเนินเขาได้อย่างองอาจสง่างาม เช่นเดียวกัน บุคคลในจิตใจตั้งมั่นอยู่ในสภาพชีวิตแห่งความสุขสัมบูรณ์แล้ว ก็จะสามารถใช้ความยากลำบากต่าง ๆ นานาที่เกิดขึ้นเป็นกระดานกระโดด และสามารถข้ามพ้นสภาพอันทุกข์ทรมานไปได้อย่างองอาจสง่างาม ด้วยพลังชีวิตที่เข้มแข็ง แท้จริงแล้วยิ่งเส้นทางไต่เขาชันมากเพียงไร ความปีติยินดีที่สามารถปีนขึ้นมาถึงยอดเขาได้ ก็ยิ่งพิเศษมากขึ้นเป็นลำดับเท่านั้น เช่นเดียวกัน สำหรับผู้ที่มีพลังชีวิตและปัญญาติดตัวที่ทำให้สามารถข้ามพ้นความยากลำบากทั้งหลายไปได้แล้ว สหาโลกแห่งนี้นี่เองที่เป็นสถานที่แห่งการสร้างคุณค่า ในท่ามกลางการต่อสู้กับสังคมความเป็นจริง จะทำให้ความศรัทธาลึกซึ้งขึ้น และสามารถลิ้มรสสภาพชีวิตแห่งสถานที่ซึ่งปวงสรรพสัตว์มีความสุขสำราญมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมได้
พระนิชิเร็นไดโชนินกล่าวว่า “ไม่มีความสุขสำราญใดสำหรับมนุษย์ที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่าการสวดนัมเมียวโฮเร็งเงเคียว ในพระสูตรกล่าวว่า ‘สถานที่ซึ่งปวงสรรพสัตว์มีความสุขสำราญ’ ข้อความนี้กล่าวถึงความปีติยินดีที่ตัวเองได้รับจากธรรม” (ธรรมนิพนธ์เรื่องจดหมายตอบท่านชิโจคิโงะ หน้า 1134) ที่กล่าวว่า “ความปีติยินดีที่ตัวเองได้รับจากธรรม” มีความหมายว่า ตัวของเราสามารถได้รับความปีติยินดีจากธรรม
คำว่า “ความปีติยินดีจากธรรม” คือ ความสุขสนุกสนานที่ได้จากธรรม หมายถึง การได้รับความพึงพอใจและความเพลิดเพลินจากธรรมซึ่งมีพร้อมอยู่แล้วในชีวิตของเรา ที่เรียกว่า “ความปีติยินดีที่ตัวเองได้รับจากธรรม” นั้น แท้ที่จริงเป็นการกล่าวถึงสภาพชีวิตของการบรรลุพุทธภาวะนั่นเอง
พระนิชิเร็นไดโชนินได้สอนถึงท่าทีของความศรัทธาเพื่อให้เราสามารถตั้งมั่นอยู่ในสภาพชีวิตแห่งความสุขสำราญนี้ว่า “จงทุกข์เมื่อมีทุกข์ จงสุขเมื่อมีสุข ขอให้ถือว่าทั้งความทุกข์และความสุขนั้น เป็นความจริงของชีวิต และจงสวดนัมเมียวโฮเร็งเงเคียวอย่างต่อเนื่องตลอดไป ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม” (ธรรมนิพนธ์หน้า 1134) ท่านได้ชี้ให้เห็นว่า สิ่งสำคัญก็คือ ไม่ว่าเวลาเช่นใดก็ตาม ขอให้สวดนัมเมียวโฮเร็งเงเคียวต่อไป