ศรัทธา ปฏิบัติ ศึกษา
ร
ากฐานการปฏิบัติบำเพ็ญเพียรในพุทธธรรมของพระนิชิเร็นไดโชนินที่มุ่งสู่การปฏิวัติชีวิตของตนเองนั้น คือหลัก 3 ข้อแห่ง “ศรัทธา ปฏิบัติ ศึกษา” การเชื่อในพุทธธรรมของพระนิชิเร็นไดโชนิน อันเป็นธรรมที่ถูกถ้วนแท้จริงของสมัยธรรมปลาย ก็คือ “การศรัทธา” การปฏิบัติอย่างถูกต้องก็คือ “การปฏิบัติ” และการใฝ่ศึกษาเรียนรู้ในคำสอนของธรรมดังกล่าวก็คือ “การศึกษา” ถ้าขาดแม้เพียงข้อใดข้อหนึ่งใน 3 ข้อนี้ ก็ไม่สามารถเป็นการบำเพ็ญเพียรพุทธมรรคที่ถูกต้องได้
-
ศรัทธา
- พระนิชิเร็นไดโชนินได้นำเอาคำสอนที่เป็นแก่นแท้สุดยอดของพุทธธรรมมาจารึกเป็นโงะฮนซน(สิ่งสักการบูชา) และการเชื่อต่อโงะฮนซนนี้อย่างลึกซึ้ง จึงเป็นรากฐานสำคัญของการบำเพ็ญเพียรพุทธธรรม พระนิชิเร็นกล่าวว่า “การบรรลุพุทธภาวะโดยสวดแต่นัมเมียวโฮเร็งเงเคียวเท่านั้นมีความสำคัญที่สุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความหนาบางของความศรัทธา รากฐานของพุทธธรรมนั้นคือ ยึดถือความศรัทธาที่เป็นบ่อเกิด” (ธรรมนิพนธ์เรื่องจดหมายตอบคุณนายนิชิเนียว หน้า 1224) และกล่าวว่า “ที่เรียกว่า มีความเข้าใจแต่ไม่มีความศรัทธาก็คือ ผู้ที่เข้าใจในปรัชญาธรรมแต่ไม่มีความศรัทธา เขาผู้นี้จะไม่สามารถบรรลุพุทธภาวะได้ ส่วนที่เรียกว่ามีความศรัทธาแต่ไม่มีความเข้าใจนั้น ก็คือผู้ที่แม้ว่าจะไม่มีความเข้าใจแต่ก็มีความศรัทธา เขาผู้นี้จะสามารถบรรลุพุทธภาวะได้” (ธรรมนิพนธ์เรื่องท่านนิอิเขะ หน้า 1443) ท่านได้ชี้ให้เห็นว่า การเชื่อต่อโงะฮนซนนั้นเป็นรากฐานสำคัญของการปฏิบัติพุทธธรรม
-
ปฏิบัติ
- การบำเพ็ญเพียรอย่างเป็นรูปธรรมโดยตั้งอยู่บนความเชื่อที่มีต่อโงะฮนซน พระนิชิเร็นไดโชนินกล่าวว่า “ผู้ปฏิบัติสัทธรรมปุณฑริกสูตรนั้น หากไม่มีการถอยในด้านความศรัทธา ไม่มีการหลอกในด้านการกระทำ และปฏิบัติบำเพ็ญเพียรตามคำกล่าวของพระพุทธโดยอุทิศตนให้กับสัทธรรมปุณฑริกสูตรแล้ว ชาติหน้านั้นไม่ต้องพูดถึง แม้แต่ชาตินี้ก็จะสงบสุขและอายุยืน สามารถได้รับผลตอบสนองที่ยิ่งใหญ่แห่งชัยชนะที่มหัศจรรย์ และทำให้ความปรารถนายิ่งใหญ่ของการเผยแผ่ธรรมไพศาลบรรลุผลสำเร็จได้” (ธรรมนิพนธ์เรื่องจดหมายที่แนบมากับคัมภีร์แห่งการอธิษฐาน หน้า 1357) สำหรับ “การปฏิบัติ” ที่ว่านี้ มีอยู่ 2 ด้าน คือ “การปฏิบัติเพื่อตนเอง” และ “การปฏิบัติเพื่อผู้อื่น” เปรียบดังล้อทั้งสองข้างของรถ หากขาดข้างใดข้างหนึ่งแล้ว การบำเพ็ญเพียรก็จะไม่ครบสมบูรณ์ ที่เรียกว่า “การปฏิบัติเพื่อตนเอง” นั้นเป็นการบำเพ็ญเพียรเพื่อให้ตัวเราเองได้รับบุญกุศลแห่งธรรม ส่วน “การปฏิบัติเพื่อผู้อื่น” เป็นการปฏิบัติโดยการสอนพุทธธรรมให้กับผู้อื่น เพื่อทำให้เขาผู้นั้นได้รับบุญกุศล
-
ศึกษา
- การศึกษาเรียนรู้ปรัชญาธรรมของพุทธธรรมอย่างถูกต้อง โดยยึดการอ่าน “ธรรมนิพนธ์” ที่พระนิชิเร็นไดโชนินได้สอนสั่งเอาไว้เป็นพื้นฐาน การเรียนรู้พุทธธรรมนั้นก็เพื่อให้เราเกิดความศรัทธาที่ลึกซึ้งขึ้นต่อโงะฮนซน และเพียรพยายามในการปฏิบัติอย่างถูกต้องนั่นเอง เพราะฉะนั้นแม้จะศึกษาพุทธธรรม แต่ถ้าหากไม่มีการปฏิบัติจริงๆ ก็เหมือนกับว่าไม่ได้ศึกษาเรียนรู้อะไรเลย
อาจารย์โทดะ นายกสมาคมโซคาคนที่ 2 ได้พูดถึงความสัมพันธ์ของทฤษฎีกับความเชื่อเอาไว้ว่า “ทฤษฎีก่อให้เกิดความเชื่อ ความเชื่อทำให้แสวงหาทฤษฎี ทฤษฎีที่เสาะแสวงหามานั้น จะทำให้เกิดความเชื่อมากยิ่งขึ้น และความเชื่อที่มากยิ่งขึ้น จะทำให้เราเข้าใจในทฤษฎีได้อย่างลึกซึ้ง”