เปลี่ยนหนักให้ได้รับโดยเบา
เ
ปลี่ยนหนักให้ได้รับโดยเบา ก็คือ การเปลี่ยนเรื่องที่หนักให้ได้รับโดยเบา คำว่า “หนัก” ในที่นี้หมายถึงบาปกรรมหนักที่เราได้สั่งสมเอาไว้ตั้งแต่อดีตกาลอันยาวนาน เช่น หมิ่นประมาทธรรมที่ถูกถ้วนแท้จริง เป็นต้น
ด้วยทฤษฎีธรรมของเหตุและผล บาปกรรมของการหมิ่นประมาทธรรมที่ทับถมมาตั้งแต่อดีตซึ่งถือเป็นเหตุ จะทำให้เกิดการตอบสนองเป็นผลในชีวิตของเราในปัจจุบัน ดังนั้นถ้าสั่งสมบาปกรรมหนักมา ก็จะได้รับการตอบสนองที่หนัก จึงเป็นกฎเกณฑ์ปกติ แต่การ “เปลี่ยนหนักให้ได้รับโดยเบา” ในที่นี้ก็หมายถึง การที่เราสามารถเปลี่ยนผลตอบสนองที่หนัก ซึ่งเดิมทีจะต้องได้รับเพียงแค่ชาตินี้ ยังข้ามไปถึงชาติหน้าได้ด้วยนั้น ให้ได้รับโดยเบาในชาตินี้ และลบล้างบาปกรรมนั้นให้หมดไปได้
หากจะกล่าวว่าทำไมเรื่องนี้จึงสามารถเป็นไปได้ นั่นก็เป็นเพราะการทำงานของ “พลังบุญกุศลของการพิทักษ์รักษาธรรม” (พลังบุญกุศลที่ได้รับจากการปกป้องธรรมที่ถูกถ้วนแท้จริงอย่างถึงที่สุด) ซึ่งถูกสะสมอยู่ในชีวิตของผู้ปฏิบัติศรัทธา โดยการพยายามบำเพ็ญเพียรและศรัทธาในธรรมที่ถูกถ้วนแท้จริงในชาตินี้
พระนิชิเร็นไดโชนินได้กล่าวเกี่ยวกับปรัชญาธรรมแห่งการเปลี่ยนหนักให้ได้รับโดยเบา (ในธรรมนิพนธ์เรื่องปรัชญาธรรมแห่งการเปลี่ยนหนักให้ได้รับโดยเบา หน้า 1000) ว่า “ในนิรวาณสูตรมีปรัชญาธรรมที่เรียกว่า ‘การเปลี่ยนหนักให้ได้รับโดยเบา’ กรรมในอดีตที่หนักไม่หมดสิ้นในชาตินี้ จึงจะต้องให้ได้รับความทุกข์แห่งนรกในอนาคต แต่เนื่องจากได้รับความทุกข์ทรมานเช่นนี้ในชาตินี้ ความทุกข์แห่งนรกจึงมลายหายไปในชั่วพริบตา และเมื่อตายไปแล้วจะได้รับประโยชน์แห่งมนุษย์ เทวะ ตรียาน และเอกยานได้”
นอกจากนี้ในธรรมนิพนธ์เรื่องเกาะซาโดะ (หน้า 959) หลังจากยกข้อความจากปรินิรวาณสูตรที่ว่า “และที่ได้รับความทุกข์ที่ตอบสนองมาของมนุษย์ต่าง ๆ ที่เหลือได้โดยเบาในชาตินี้นั้น ก็เป็นเพราะด้วยพลังของบุญกุศลแห่งการพิทักษ์รักษาธรรมนี้” แล้วท่านก็ได้เทศนาความหมายของ “เปลี่ยนหนักให้ได้รับโดยเบา” ให้เข้าใจง่าย และยกตัวอย่างประกอบดังนี้
“อุปมาดังเช่น ประชาชนขณะที่ยังอยู่ในเมืองในหมู่บ้านและอื่น ๆ ถึงแม้จะมีหนี้สินกับผู้ปกครองท้องถิ่นแบบไหนก็ตามก็จะไม่ถูกเร่งรัดนัก จะสามารถยืด(หนี้)ออกไปได้ทุกปี แต่ในขณะที่จะออกจากสถานที่แห่งนั้น ก็จะแย่งชิงกันปรากฏออกมา(ฉะนั้น) ที่กล่าวว่า นี่เป็นเพราะด้วยพลังของบุญกุศลแห่งการพิทักษ์รักษาธรรม และอื่น ๆ นั้น ก็คือสิ่งนี้นั่นเอง” (ธรรมนิพนธ์เรื่องเกาะซาโดะ หน้า 960)
ในที่นี้เปรียบเทียบว่า บาปกรรมซึ่งเป็นเหตุที่พวกเราสะสมไว้ในอดีตกาลอันยาวนาน ก็คือหนี้สินมากมายที่ประชาชนผู้อยู่อาศัยในเมืองในตำบลได้กู้ยืมมาจากผู้ปกครองท้องถิ่น
ตราบใดที่ประชาชนยังอาศัยอยู่ในเมืองนั้นหรือตำบลนั้น แม้หนี้จะก้อนใหญ่มาก แต่ผู้ปกครองท้องถิ่นก็จะไม่เคี่ยวเข็ญให้ใช้คืน การใช้คืนนี้สามารถยืดออกไปได้เป็นปี ๆ แต่ว่าถ้าประชาชนอยากจะย้ายออกจากเมืองนี้ตำบลนี้ไปอยู่ในท้องถิ่นอื่น ก็จะถูกเคี่ยวเข็ญให้ใช้คืนทั้งหมดที่หยิบยืมไป
เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญก็คือ ระหว่างที่ปฏิบัติศรัทธาในธรรมที่ถูกถ้วนแท้จริง เมื่อความทุกข์ยากต่าง ๆ ปรากฏออกมา ก็ขอให้เข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นเหตุแห่งการหมิ่นประมาทธรรมในอดีตของตนเอง ขณะเดียวกันขอให้เชื่อมั่นว่าจะสามารถเปลี่ยนผลตอบสนองที่เดิมทีควรจะได้รับหนักกว่านี้ในระยะยาว ให้ได้รับโดยเบาด้วยพลังของบุญกุศลที่ศรัทธาและปกป้องธรรมที่ถูกถ้วนแท้จริง จะสามารถลบล้างสิ่งนี้ให้หมดไปได้ พร้อมกันนี้ก็มีความกล้าหาญและเพียรพยายามในการปฏิบัติศรัทธายิ่ง ๆ ขึ้น