10 โลก

นชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปมาต่าง ๆ นานาในแต่ละชั่วขณะที่ว่านี้ถูกแบ่งออกเป็น 10 ชนิด และสิ่งที่ให้ความกระจ่างต่อเรื่องนี้ก็คือ หลักธรรม 10 โลกที่พุทธธรรมได้อธิบายไว้ ซึ่งจะทำให้มองเห็นถึงธาตุแท้ของการทำงานของชีวิต ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างแหลมคม

หลักธรรม 10 โลกได้แบ่งปรากฏการณ์ของชีวิตหรือสภาพของชีวิตไว้ 10 ชนิด ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถมองเห็นได้และทุก ๆ คนมีเหมือน ๆ กัน โดยไม่เกี่ยวข้องว่าต้องมีความศรัทธาหรือไม่ นอกจากนี้หลักธรรม 10 โลกไม่ได้วินิจฉัยปรากฏการณ์ของชีวิตอย่างง่าย ๆ เพียงเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ทำให้ดึงเอาพลังที่ยอดเยี่ยมในชีวิตมนุษย์ที่มีอยู่แต่แรกเริ่มออกมา เป็นการสอนถึงการดำเนินชีวิตให้สมกับความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง และทำอย่างไรจึงจะดำเนินชีวิตได้อย่างดีเยี่ยม

ในพระสูตรก่อนสัทธรรมปุณฑริกสูตรมีแนวความคิดเกี่ยวกับ 10 โลกว่า เป็นโลกที่แยกออกจากกัน 10 ชนิด ตามชื่อของมัน ตัวอย่างเช่น โลกของนรก โลกของเปรต โลกที่มนุษย์อาศัยอยู่ โลกที่พระพุทธอาศัยอยู่ เป็นต้น แต่ละโลก ๆ เป็นโลกที่แยกออกจากกัน ไม่เกี่ยวข้องต่อกัน

ส่วนสัทธรรมปุณฑริกสูตร มีแนวความคิดว่า 10 โลกไม่ใช่โลกที่แยกออกจากกัน แต่เป็นความรู้สึกแท้จริงของชีวิตที่มีพร้อมอยู่นแต่ละชีวิต เช่น ภายในชีวิตของมนุษย์ ก็มีพร้อมทั้ง 10 โลก ตั้งแต่โลกนรกจนถึงโลกพุทธ ทำนองเดียวกัน ไม่ว่าสรรพสัตว์ในโลกนรกหรือพุทธก็มีพร้อมสภาพชีวิต 10 โลกเช่นกัน ดังที่กล่าวมานี้ การที่สรรพสัตว์แห่ง 10 โลก ตั้งแต่โลกนรกถึงโลกพุทธต่างก็มี 10 โลกพร้อมอยู่ด้วยนั้น เรียกว่า “10 โลกมีพร้อมซึ่งกันและกัน”

ทรรษนะของ “10 โลกมีพร้อมซึ่งกันและกัน” มองว่า ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ไม่หยุดอยู่ที่สภาพใดสภาพหนึ่ง แม้ขณะนี้อยู่ในความทุกข์ทรมานของโลกนรก ก็ไม่ใช่ว่าจะอยู่โลกนรกตลอดไป ภายในสภาพชีิวิตนรกดังกล่าว ก็ยังมีสภาพชีวิตอันเยี่ยมยอดที่เรียกว่าโพธิสัตว์หรือพุทธอยู่ด้วย ฉะนั้นทฤษฏี 10 โลกมีพร้อมซึ่งกันและกัน จึงเป็นทฤษฏีที่สอนว่าชีวิตจะสามารถเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นนั่นเอง แต่ละโลกของ 10 โลก ได้แก่

  1. โลกนรก ในพุทธธรรมได้กล่าวไว้ว่า “ความโกรธแค้นคือ นรก” คำว่า “นรก” ในภาษาญี่ปุ่นอ่านว่า “จิโงขุ” คำว่า “จิ” ของ “จิโงขุ” ชี้ถึงสถานะที่ต่ำสุด ส่วนคำว่า “โงขุ” หมายถึง สภาพที่ถูกพันธนาการ ไม่มีความเป็นอิสระ กล่าวคือ โลกนรกใช้เรียกสภาพชีวิตที่เป็นทุกข์ซึ่งอยู่ต่ำที่สุด ต้องส่งเสียงร้องครวญครางด้วยความโกรธแค้น ไม่มีอิสระ ถูกผูกมัดอยู่กับความทุกข์ ความโศกเศร้า
  2. โลกเปรต ในพุทธธรรมกล่าวว่า “ความโลภคือเปรต” ความโลภใช้กล่าวถึง สภาพชีวิตที่อดอยากเนื่องจากมีความอยากปนารถนาไม่รู้จักพอ ตอนที่พวกเราท้องว่างหรือคอแห้งก็เป็นการปรากฏออกมาของโลกเปรต นอกจากนี้การพยายามให้ได้มาตามความอยากของตนแต่เพียงอย่างเดียว หรือสภาพชีวิตที่ถูกครอบงำโดยความอยาก ความปรารถนา เช่น สภาพชีวิตของขโมยที่พยายามลักขโมยสิ่งที่อยากได้ ก็คือโลกเปรตนั่นเอง
  3. โลกเดรัจฉาน ทางพุทธธรรมกล่าวว่า “ความโง่เขลาคือเดรัจฉาน” ความโง่เขลาใช้เรียกสภาพชีวิตที่เหมือนกับสัตว์ที่กระทำไปตามสัญชาตญาณ โดยไม่ใช้เหตุผล สัตว์ที่แข็งแรงกว่าจะกินสัตว์ที่อ่อนแอ มีชีวิตอยู่ท่ามกลางการแข่งขันเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดแบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก สำหรับมนุษย์ก็คือสภาพชีวิตของคนที่แสดงต่อคนซึ่งที่มีตำแหน่งสูงกว่าหรือแข็งแรงกว่า ก็จะพูดประจบสอพลอ ต่อคนที่ตำแหน่งด้อยกว่าหรืออ่อนแอกว่าก็จะวางท่าใหญ่โต ข่มเหงกลั่นแกล้งเขา สภาพชีวิตเช่นนี้ก็คือโลกเดรัจฉาน
  4. โลกอสุระ ทางพุทธธรรมกล่าวว่า “ประจบสอพลอคืออสุระ” “ประจบสอพลอ” เป็นสภาพชีวิตที่บิดเบี้ยว ไม่สามารถยอมรับผู้ที่เหนือกว่าตนเอง เกิดจิตใจอิจฉาริษยาและพยายามขัดขวางผู้นั้น การเอาตนเองเปรียบเทียบกับคนอื่นและพยายามเอาชนะเขา ก็คือลักษณะพิเศษของโลกอสุระ แม้โลกอสุระเหนือกว่าโลกนรก เปรต และเดรัจฉาน ในแง่ที่มีการสำนึกรู้ถึงตนเองมากกว่าก็ตาม แต่เนื่องจากโดยหลักแล้ว ยังอยู่ในสภาพชีวิตที่มีความทุกข์ จึงรวมโลกอสุระเข้ากับ 3 โลกดังกล่าวแล้วเรียกว่า 4 โลกชั่ว หรือ อบายภูมิ 4
  5. โลกมนุษย์ ทางพุทธธรรมกล่าวว่า “ความสงบราบเรียบคือมนุษย์” โลกมนุษย์เป็นสภาพชีวิตที่สงบเรียบ เหมาะสมกับความเป็นมนุษย์ ลักษณะพิเศษของโลกนี้ก็คือสามารถพิจารณาตัดสินดีชั่ว และมีการทำงานของพลังที่ใช้หลักเหตุและผลในการควบคุมการกระทำของตน โลกที่จิตใจมีการควบคุมตนเองว่าสิ่งที่ไม่ควรทำก็จะไม่ทำก็คือโลกมนุษย์
  6. โลกเทวะ ทางพุทธธรรมกล่าวว่า “ความปิติยินดีก็คือเทวะ” โลกเทวะเป็นอารมณ์ของความปิติยินดีของชีวิต เป็นสภาพที่พึงพอใจสมตามความอยากความปรารถนาต่าง ๆ เป็นสภาพที่ยินดีพอใจเหมือนได้ขึ้นไปถึงสรวงสวรรค์ สภาพชีวิตที่ร่าเริง ในเวลาที่ดีใจมาก มีความรู้สึกราวกับว่าเท้าแตะไม่ถึงพื้น ก็เรียกว่าโลกเทวะ
  7. โลกสาวก ที่เรียกว่าสาวกนั้น เดิมทีหมายถึงได้ฟังเสียงของพระพุทธแล้วถ่ายทอด มีที่มาจากคำว่าลูกศิษย์ ผู้เป็นสาวก เนื่องจากเป็นลูกศิษย์ที่ได้ฟังคำสอนของพระพุทธ แล้วถ่ายทอดคำสอนนั้นให้กับผู้อื่น โลกสาวก จะเข้าใจในความคิดเห็นและประสบการณ์ของผู้คนต่าง ๆ เป็นสภาพชีวิตที่พยายามพัฒนาให้ตัวเองพรั่งพรูในความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าใครก็ตาม เวลาที่พยายามขัดเกลาตนเองและใฝ่หาความรู้ศิลปะวิทยาการติดตัวนั้นก็เรียกว่าโลกสาวก
  8. โลกปัจเจก เป็นสภาพชีวิตที่ได้ไปสัมพันธ์กับอะไรบางอย่าง แล้วสามารถตระหนักรู้ในกฏเกณฑ์ของชีวิตและของจักรวาลเพียงบางส่วน หรือสภาพชีวิตที่รู้สึกปิติยินดี หรือพึงพอใจเมื่อได้สร้างอะไรขึ้นมา และคงจะเรียกการวาดภาพหรือแต่งเพลง หรือค้นภพหลักความจริงของนักปราชญ์ว่าเป็นการทำงานของโลกปัจเจกได้ ทว่า คนที่มีชีวิตของทวิยาน คือโลกสาวกกับปัจเจกแรงมาก มักกลายเป็นคนที่มีความคิดเห็นแก่ตัว ไม่แยแสผู้อื่น คิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่ สาวกกับปัจเจกมักจะยึดติดกับการรู้แจ้งของตนจนไม่สามารถคิดถึงเรื่องของคนอื่นได้ ไม่มีการปฏิบัติเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้อื่น นี่คือความจำกัดความของโลกสาวกและปัจเจก นอกจากนี้ยังหมกหมุ่นอยู่กับความรู้แจ้งของตนเอง และคิดว่าแค่นี้ก็น่าจะพอไม่ยอมแสวงหาการรู้แจ้งของพระพุทธนี้ ก็เป็นความจำกัดของสาวกและปัจเจกเช่นกัน
  9. โลกโพธิสัตว์ คือสภาพชีวิตที่สูงกว่าทวิยาน โลกโพธิสัตว์ใช้เรียกสภาพชีวิตที่ให้ความสำคัญกับความเมตตาต่อผู้อื่น เพื่อผู้อื่นแล้วไม่เสียดายความเหน็ดเหนื่อย และเป็นสภาพของการเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่น ซึ่งพยายามมอบสิ่งดี ๆ ให้กับชีวิตของคนอื่น และสามารถที่จะคิดว่าความทุกข์ของคนอื่นก็เป็นความทุกข์ของตนเอง พยายามที่จะถอนทุกข์ของคนอื่น นอกจากนี้โพธิสัตว์จะไม่มีความคิดว่า “แค่นี้ก็พอแล้ว” แต่จะพยายามก้าวหน้าโดยมุ่งสู่สภาพการแสวงหาธรรมจึงเป็นลักษณะพิเศษของโลกโพธิสัตว์
  10. โลกพุทธ คือสภาพชีวิตที่สูงสุดของมนุษย์ คงจะมีผู้คนมากมายที่ได้ยินคำว่า “โลกพุทธ” เป็นครั้งแรก โลกพุทธใช้เรียกการทำงานของชีวิตที่เปลี่ยนแต่ละโลกของชีวิตใน 9 โลกที่กล่าวมาข้างต้น คือ ตั้งแต่โลกนรกไปถึงโลกโพธิสัตว์ ให้เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่สร้างสรรค์ ทิศทางที่มีคุณค่าสูงสุด เป็นการทำงานของชีวิตที่ใสสะอาดแข็งแกร่งที่สุด

หากอธิบายเรื่องนี้อย่างกระชับสั้น ๆ แล้วก็กล่าวได้ว่า ในขณะที่พวกเราเชื่อมั่นต่อโงะฮนซน และเพียรพยายามปฏิบัติเพื่อการเผยแผ่ธรรมไพศาล ชีวิตโลกพุทธก็จะปรากฏออกมา พระนิชิคันโชนิน ระมุขสงฆ์ลำดับที่ 26 กล่าวว่า “จิตใจที่เชื่ออย่างเข้มแข็งนั้นเรียกว่าโลกพุทธ” หมายความว่า โลกพุทธก็คือจิตใจที่เชื่อโงะฮนซนอย่างเข้มแข็งนั่นเอง

กล่าวคือ แม้จะเรียกว่าพุทธก็ตาม ก็ไม่ได้อยู่ห่างไกลหรืออยู่เหนือกว่าพวกเรา แต่อยู่ในตัวเราเอง หากจะพูดให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นก็คือ ทุกคนต่างเป็นตัวตนของพระพุทธแต่ดั้งเดิม ทว่าเรื่องนี้อยู่ในลักษณะแฝงอยู่ จึงยากที่จะทำให้ปรากฏออกมาเป็นจริงได้ สิ่งที่ทำให้โลกพุทธนี้ไม่อยู่แค่ในลักษณะแฝง แต่ทำให้ปรากฏเป็นจริงออกมาในชีวิตของแต่ละคน ก็คือพุทธธรรมของพระนิชิเร็นไดโชนิน หากเชื่อโงะฮนซนและเพียรพยายามในการสวดนัมเมียวโฮเร็งเงเคียวเพื่อตนเองและเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นแล้ว สภาพชีวิตของพุทธที่แฝงอยู่ในชีวิต ก็จะแสดงออกมาในความเป็นจริง ไม่ว่าใครก็ตามสามารถแสดงโลกพุทธปรากฏออกมาและมีพฤติกรรมของพระพุทธได้ ด้วยการรับและยึดถือโงะฮนซน นี่คือพุทธธรรมของพระนิชิเร็นไดโชนิน

วารสารสู่ความสุข