ไดซาขุ อิเคดะ
อ
าจารย์ไดซาขุ อิเคดะ เกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2471 (ค.ศ. 1928) ที่เขตโอตะ เมืองโตเกียวในปัจจุบัน เป็นบุตรชายคนที่ 5 ของครอบครัวที่ทำธุรกิจผลิตโนริ (สาหร่ายทะเล) สมัยที่เรียนอยู่ชั้นประถมคุณพ่อได้ล้มป่วยเป็นรูมาตอยด์ พี่ชายถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ในวัยเด็กต้องช่วยทำงานบ้าน จากนั้นก็ได้เข้าทำงานในโรงงานทำเหล็กรายใหญ่ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2488 ได้เข้าเรียนภาคค่ำที่โรงเรียนเตรียมอุดมพาณิชยการคันดะ
ในปี ค.ศ. 1947 ได้ชวนเพื่อน ๆ ที่สนิทสนมมาตั้งกลุ่มอ่านหนังสือ พยายามค้นหาความรู้
เนื่องจากการพ่ายแพ้สงคราม ความมั่นคงในชีวิตจึงหายไป ในช่วงนั้นจึงได้มีการค้นหาความมั่นคงและทัศนะแห่งคุณค่าที่แท้จริง
วันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1947 เพื่อนสมัยเรียนชั้นประถมด้วยกันได้ชักชวนอิเคดะ ให้ไปร่วมสนทนาธรรมของสมาคมสร้างคุณค่าเป็นครั้งแรก ณ ที่นั้นอิเคดะ ได้พบอาจารย์โจเซอิ โทดะ ซึ่งอาจารย์ตอนนั้นมีอายุ 47 ปี ส่วนอิเคดะมีอายุ 19 ปี และด้วยความประทับใจในบุคลิกลักษณะของอาจารย์โทดะ จึงได้เข้าเป็นสมาชิกของสมาคมโซคา ในวันที่ 24 สิงหาคม ปีนั้นเอง
นายกสมาคมสร้างคุณค่า
ในวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1960 ในที่ประชุมใหญ่ผู้นำระดับภาคครั้งที่ 22 ณ หอประชุมใหญ่นิชิได (มหาวิทยาลัยญี่ปุ่น) ซึ่งอยู่ในตำบลเรียวโงะขุ กรุงโตเกียว ก็ได้จัดพิธีเข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมฯ ท่านที่ 3 ขณะนั้นอาจารย์อิเคดะอายุ 32 ปี
ถึงแม้ผมจะยังหนุ่ม มีประสบการณ์น้อย ตั้งแต่วันนี้ในฐานะตัวแทนลูกศิษย์อาจารย์โทดะ ผมยินดีที่จะทำหน้าที่บัญชาการ ในการไปสู่ความก้าวหน้าอีกก้าวหนึ่ง โดยมุ่งสู่การเผยแผ่ธรรมไพศาลให้สำเร็จลุล่วง
จากเสียงคำรามครั้งแรกของราชสีห์นี้ ความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ครั้งใหม่ของสมาคมก็ได้เริ่มต้นขึ้น
หลังจากนั้น ในเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกัน อาจารย์อิเคดะก็ได้เริ่มเดินทางไปเยี่ยมเยียนสมาชิกที่หมู่เกาะโอกินาวาเป็นครั้งแรก ซึ่งตอนนั้นอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของอเมริกา ในที่สุดการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพของโลก ที่เรียกว่า “การเผยแผ่ธรรมไพศาล” อันเป็นพินัยกรรมของอาจารย์ผู้มีพระคุณ และเป็นคำสั่งเสียของพระนิชิเร็นไดโชนิน ก็ได้เริ่มต้นขึ้น
ในวันที่ 2 ตุลาคม อาจารย์อิเคดะเริ่มออกเดินทางเพื่อสันติภาพ ไปยังอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ นี่คือก้าวแรกแห่งการเผยแผ่ธรรมไพศาลไปทั่วโลก ด้านภายในประเทศญี่ปุ่น อาจารย์อิเคดะได้ออกตระเวนให้กำลังใจผู้ศรัทธาในท้องถิ่นต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ท่านก็ได้ทุ่มเทพลังในการเสริมสร้างผู้นำในอนาคต เช่น ในปี ค.ศ. 1962 ได้บรรยายธรรมนิพนธ์ให้กับตัวแทนของแผนกอุดมศึกษา ต่อมาในปี ค.ศ. 1964 ก็ได้ก่อตั้งคณะมิไรบุ เช่น แผนกเตรียมอุดม เป็นต้น
ในอีกด้านหนึ่ง ด้วยการเสนอของอาจารย์อิเคดะ จึงได้จัดตั้งกลุ่มศึกษาธรรม กลุ่มศิลปิน และกลุ่มวิชาการ ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี หลังจากนั้นก็ได้ก่อตั้งสถาบันการวิจัยวิชาการภาคตะวันออกขึ้นมา (ปัจจุบันคือสถาบันการวิจัยปรัชญาตะวันออก) ก่อตั้งสมาคมดนตรีเพื่อประชาชน (มิน-ออน) โรงเรียนมัธยมโซคา และ มหาวิทยาลัยโซคา นอกจากนี้ ยังก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะฟูจิ พิพิธภัณฑ์ศิลปะโตเกียวฟูจิ และมีการพัฒนาการเคลื่อนไหวทางด้านวัฒนธรรมและการศึกษาอย่างหลากหลาย
ในการประชุมใหญ่ของแผนกอุดมศึกษา ครั้งที่ 11 วันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1968 มีการประกาศแถลงการณ์เสนอให้ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับจีนกลับสู่สภาวะปกติ ในปี ค.ศ. 1970 ครอบครัวสมาชิกของสมาคมก็ได้พัฒนาเพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้าน 5 แสน ครอบครัว
พร้อมกับการต่อสู้เผยแผ่ธรรมได้ขยายออกไปอย่างยิ่งใหญ่ ท่านก็ได้ดำเนินการแลกเปลี่ยนด้านสันติภาพ วัฒนธรรม และการศึกษาอย่างกว้างขวาง โดยพบปะสนทนากับผู้ทรงความรู้ระดับโลก เช่น ดร.ทอยน์บี นักประวัติศาสตร์ของประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1972 เป็นต้น
ประธานสมาคมสร้างคุณค่าสากล
ภายใต้การบัญชาที่ยืนอยู่แนวหน้าของอาจารย์อิเคดะ ก็ได้วางพื้นฐานแห่งการเผยแผ่ธรรมไพศาลทั่วโลกขึ้น ดังนั้น ตัวแทนสมาชิกของสมาคมในท้องถิ่นต่าง ๆ 51 ประเทศทั่วโลก จึงได้รวมตัวกันเปิดประชุมสันติภาพทั่วโลกครั้งที่ 1 ขึ้นที่เกาะกวม เมื่อวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1975 การประชุมครั้งนี้ ได้มีการก่อตั้งสมาคมสร้างคุณค่าสากล (SGI) ขึ้นมา โดยมีอาจารย์อิเคดะเป็นผู้รับตำแหน่งประธานสมาคม ทำให้รากฐานการสร้างความเจริญก้าวหน้าในการเผยแผ่ธรรมไพศาลทั่วโลก ได้รับการจัดวางอย่างเรียบร้อย
ภายหลังจากนั้น ก็ได้กำหนดให้วันที่ 26 มกราคม เป็น “วันเอสจีไอ”
ในปี ค.ศ. 1995 ได้มีการกำหนดกฎบัตรเอสจีไอที่ชูแนวทางลัทธิมนุษยนิยมของเอสจีไออย่างชัดเจนขึ้นมา และได้ขยายการเคลื่อนไหว เพื่อสร้างสันติภาพ วัฒนธรรม และการศึกษา ที่มีแนวคิดของพุทธธรรมเป็นพื้นฐานไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก
นับตั้งแต่ ค.ศ. 1983 เป็นต้นมา ในวันที่ 26 มกราคม ซึ่งเป็น วันเอสจีไอ ของทุกปี อาจารย์อิเคดะก็จะแถลง “ข้อเสนอที่ระลึกวันเอสจีไอ” เพื่อที่จะสร้างสันติภาพขึ้นมาในโลก กระแสเคลื่อนแห่งลัทธิมนุษยนิยมและลัทธิสันติภาพจึงได้แผ่ขยายไปทั่วโลก
จากการที่ได้ทุ่มเทพลังทั้งหมดในการเคลื่อนไหว ทำให้กระแสคลื่นแห่งมนุษยนิยมที่มีหลักพุทธธรรมเป็นรากฐานได้แผ่ขยายออกไปในระดับโลก และเส้นทางการเผยแผ่ธรรมไพศาลทั่วโลกของพุทธธรรมก็ได้ถูกเปิดออกไปและงานที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาก็ได้ปรากฏเป็นจริงขึ้นมา
ปัจจุบันได้เข้าสู่ยุคสมัยที่สมาชิกเอสจีไอได้ทำการเคลื่อนไหว ในการปฏิบัติพุทธธรรมของพระนิชิเร็นไดโชนินในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วโลก 192 ประเทศเขตแคว้น (ข้อมูล ณ ปี ค.ศ. 2010)
เปิดเส้นทางใหญ่ของลัทธิมนุษยนิยมด้วยการ “สนทนา”
พุทธธรรมของพระนิชิเร็นไดโชนิน เป็นปรัชญาที่ให้แก่ความสุขแก่มวลมนุษย์ เจตนารมณ์ดังกล่าวเป็นการทำให้ “การก่อตั้งธรรมะที่ถูกต้อง เพื่อให้ประเทศเกิดสันติ” ปรากฏเป็นจริงขึ้น
กล่าวคือ ช่วยเหลือประชาชนให้พ้นทุกข์ และก่อตั้งสันติภาพโลก โดยมีแนวคิดถึงความสูงส่งของชีวิต และจิตใจแห่งความเมตตาของพุทธธรรมเป็นพื้นฐาน เหล่านี้คือเป้าหมายของการเผยแผ่ธรรมไพศาล ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน ควรที่จะต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวจริงจัง ชนิดย่อมให้ไม่ได้ กับการกดขี่ความเป็นมนุษย์และลักษณะมารแห่งอิทธิพลอำนาจที่แย่งความสูงส่งของชีวิตไป
อาจารย์มาคิงุจิ นายกสมาคมฯ ท่านแรก และอาจารย์โทดะ นายกสมาคมฯ ท่านที่ 2 นั้น ได้ทำการต่อสู้กับลักษณะมารแห่งอิทธิพลอำนาจตลอดชั่วชีวิตของท่าน
อาจารย์อิเคดะได้กล่าวถึงแนวคิดของสมาคมโซคา ซึ่งประกอบด้วย “ลัทธิสันติภาพนิยม” “ลัทธิวัฒนธรรมนิยม” และ “ลัทธิการศึกษานิยม” โดยมี “ลัทธิมนุษยนิยม” เป็นรากฐาน สมาคมได้ทำให้ลักษณะที่ดีงามของชีวิตเบ่งบานออกมา โดยมีปรัชญาแห่งการปฏิวัติมนุษย์เป็นรากฐาน ได้อุทิศให้กับการสร้างความสุขแก่มวลมนุษยชาติด้วยแง่มุมต่าง ๆ ของสันติภาพ วัฒนธรรม และการศึกษา
เพื่อสิ่งเหล่านี้ อาจารย์อิเคดะจึงได้พยายามผลักดันอย่างเหนียวแน่นใน “การสนทนา” ที่ข้ามพ้นความแตกต่างในเรื่องของ ศาสนา ประเทศชาติ เชื้อชาติ และวัฒนธรรม
เท่าที่ผ่านมา อาจารย์อิเคดะได้พบปะสนทนาหลาย ๆ ครั้ง เกินกว่าพันห้าร้อยครั้งกับผู้นำของโลก ผู้นำประเทศต่าง ๆ ปัญญาชน และบุคคลในด้านวัฒนธรรม เช่น ท่านเคาท์ ริชาร์ด กูเดนฮอฟ คาเลอจี (บิดาแห่งการรวมยุโรปเข้าด้วยกัน) ดร.อาร์โนลด์ ทอยน์บี บิดาแห่งนักประวัติศาสตร์ ดร.ออเรลิโอ เปคเชอิ ผู้ก่อตั้งสโมสรแห่งโรมัน โคซิกิน นายกรัฐมนตรีแห่งสหภาพโซเวียต ฯพณฯ โจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศจีน เฮนรี คิสซิงเจอร์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา มิคาอิล กอร์บาชอฟ ประธานาธิบดีแห่งสหภาพโซเวียต เนลสัน แมนเดลลา ประธานาธิบดีแห่งแอฟริกาใต้ ดร.โยฮัน กัลตุง “บิดาแห่งนักสันติภาพ” เป็นต้น
สร้าง “คน” และสร้าง “อนาคต” ด้วยการเคลื่อนไหวทางการศึกษา
อาจารย์อิเคดะได้ดำเนินการเคลื่อนไหวทางด้านการศึกษา โดยยึดแนวทางว่า “รากฐานอันสำคัญที่จะกำหนดอนาคตและสร้างสรรค์สันติภาพและคุณค่าก็คือการศึกษา”
การเคลื่อนไหวอย่างหนึ่งด้านการศึกษาที่กล่าวมาแล้วก็คือ “บรรยายพิเศษที่สถาบันการศึกษา” โดยเริ่มต้นจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส สถาบันวิชาการแห่งฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยมอสโก มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยโบโลญญา ล้วนแต่เป็นสถาบันวิชาการและมหาวิทยาลัยอันดับชั้นนำของโลก ในการบรรยายดังกล่าวท่านได้มอบข้อคิดอย่างลึกซึ้งให้แก่นักการศึกษาและเยาวชนทั้งหลาย เรื่องเหล่านี้ได้ทำกันมาถึง 31 ครั้ง
ในอีกด้านหนึ่งของการศึกษา ท่านยังได้เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการอ่านหนังสือ จึงดำเนินกิจกรรมการมอบหนังสือให้แก่โรงเรียนชั้นประถมและมัธยม และห้องสมุดสาธารณะภายในประเทศญี่ปุ่น ในช่วงเวลา 28 ปี สมาคมฯ ได้มอบหนังสือให้แก่โรงเรียนและห้องสมุดเป็นจำนวนถึงพันแห่งขึ้นไป (โรงเรียนประถม 728 โรงเรียน มัธยม 199 โรงเรียน โรงเรียนที่มีชั้นประถมและมัธยมรวมกัน 62 โรงเรียน รวมทั้งห้องสมุดสาธารณะ 21 แห่ง) ยอดรวมจำนวนหนังสือที่มอบให้ โดยแยกประเภทต่าง ๆ มีจำนวนถึง 439,000 เล่ม (จนถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2002)