คำถามที่พบบ่อย
- ภาระหน้าที่ของโพธิสัตว์จากพื้นโลกคืออะไร?
- แนวคิดของ “ระฆัง 7 ใบ” คืออะไร?
- ในต่างประเทศมีการศึกษาค้นคว้ากันอย่างไร?
- ธงสามสีที่ปักอยู่ตามอาคารสมาคมนั้น มีความหมายอย่างไร?
- เจตนารมณ์ที่สำคัญซึ่งมีอยู่ใน “วิชาการศึกษาสร้างคุณค่า” คืออะไรและได้รับการยอมรับอย่างไร?
- การเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพของสมาคมโซคาเป็นอย่างไร?
ภาระหน้าที่ของโพธิสัตว์จากพื้นโลกคืออะไร?
ภาระหน้าที่ของโพธิสัตว์จากพื้นโลก ถ้ากล่าวอย่างกระชับสั้น ๆ ก็คือการยึดถือธรรมมหัศจรรย์ ซึ่งเป็นธรรมะที่สูงส่งที่สุด เพื่อทำการช่วยเหลือประชาชนอย่างจริงจัง โดยเข้าสู่สังคมที่เป็นจริง และช่วยกันสร้างโลกให้ราบรื่นปลอดภัยและสันติที่ไม่พังทลายชั่วนิรันดร์
แม้จะเรียกโพธิสัตว์จากพื้นโลก แต่มิได้อยู่ในโลกไหนที่ไกลออกไปหรือเป็นบุคคลที่มีลักษณะพิเศษเหนือบุคคลทั่วไป ในธรรมนิพนธ์ของพระนิชิเร็นไดโชนิน หน้า 1360 กล่าวไว้ว่า “ผู้ที่สวดนัมเมียวโฮเร็งเงเคียวในสมัยธรรมปลาย ไม่ว่าหญิงหรือชาย ทั้งหมดคือโพธิสัตว์จากพื้นโลก”
สมาชิกของสมาคมที่ต่อสู้เพื่อความราบรื่นปลอดภัยและสันติสุขของสังคม ให้กำลังใจซึ่งกันและกันในหมู่เพื่อนสมาชิก มุ่งมั่นในการเผยแผ่ธรรมและชักชวนแนะนำธรรม เพื่อการเผยแผ่ธรรมไพศาลนั้น ก็คือโพธิสัตว์จากพื้นโลกนั่นเอง
แนวคิดของ “ระฆัง 7 ใบ” คืออะไร?
ตอนที่อาจารย์โทดะ ประธานสมาคมฯ ท่านที่ 2 มีชีวิตอยู่ ท่านได้กล่าวไว้ว่า “สมาคมได้ตีระฆังแห่งการเผยแผ่ธรรมทุก ๆ 7 ปี (สมาคมมีการพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ โดยมีระยะเวลาช่วงละ 7 ปี) จงมุ่งสู่ระฆังใบที่ 7 และตีให้ดังกังวานกันเถิด !”
ด้วยเหตุนี้ หลังจากที่อาจารย์โทดะเสียชีวิตลง ในปี ค.ศ. 1958 วันที่ 3 พฤษภาคม ก็ได้มีการจัดประชุมใหญ่ระดับภาคขึ้น ขณะนั้น อาจารย์อิเคดะซึ่งเป็นหัวหน้าคณะทำงานของคณะยุวชน ได้พิจารณาไตร่ตรองถึงโครงการที่จะมอบความหวังให้กับสมาชิกที่ยังมีความกังวลต่ออนาคต จึงได้ประกาศแนวคิด “ระฆัง 7 ใบ” ขึ้นมาในที่ประชุมดังกล่าว
นับตั้งแต่สมาคมได้ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1930 เป็นต้นมา ก็สามารถพัฒนาก้าวหน้าขึ้นมาโดยตลอดในทุก ๆ ช่วง 7 ปี คือ
- “ระฆังใบที่ 1” ช่วงเวลา 7 ปี นับตั้งแต่ปีก่อตั้ง คือปี ค.ศ. 1930 จนถึง ค.ศ. 1937 ซึ่งมีการจัดพิมพ์หนังสือทฤษฎีการศึกษาสร้างคุณค่า นับเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสมาคมการศึกษาสร้างคุณค่า (โซคาเคียวอิขุ งักไก)
- “ระฆังใบที่ 2” ช่วงเวลา 7 ปีต่อมา จนถึงปี ค.ศ. 1944 ซึ่งเป็นปีที่อาจารย์มาคิงุจิ ประธานสมาคมฯ ท่านแรกได้ล่วงลับไป
- “ระฆังใบที่ 3” ช่วงเวลาอีก 7 ปีต่อมา จนถึงปี ค.ศ. 1951 ซึ่งเป็นปีที่อาจารย์โจเซอิ โทดะ เข้ารับตำแหน่งประธานสมาคมฯ ท่านที่
- “ระฆังใบที่ 4” ช่วงเวลาอีก 7 ปีต่อมา จนถึงปี ค.ศ. 1958 ซึ่งเป็นปีที่อาจารย์โจเซอิ โทดะ ประธานสมาคมฯ ท่านที่ 2 ล่วงลับไป
- “ระฆังใบที่ 5” เป็นช่วงเวลาที่มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการเพิ่มจำนวนสมาชิก 3 ล้านครอบครัว ตามพินัยกรรมของอาจารย์โทดะได้ชี้แนะไว้ โดยมุ่งในโอกาสครบรอบ 7 ปีของการมรณกรรมของอาจารย์โทดะ
อนึ่ง ตอนที่อาจารย์อิเคดะได้เสนอแนวคิด “ระฆัง 7 ใบ” นั้น เป็นช่วงเวลาที่เริ่มต้นของ “ระฆังใบที่ 5” นี้ด้วย - “ระฆังใบที่ 6” เป้าหมายของอีก 7 ปีที่จะมาถึงก็คือ จะต้องมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านครอบครัว
- “ระฆังใบที่ 7” ในปี ค.ศ. 1972 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นของระฆังใบที่ 7 นั้นการก่อสร้างมหาวิหารโชฮนโดได้สำเร็จเสร็จสิ้นลง และยังมีเป้าหมายอีกว่า จะสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งของการเผยแผ่ธรรมไพศาลของประเทศญี่ปุ่นภายในปี ค.ศ. 1979 ซึ่งเป็นปีที่ระฆังทั้ง 7 ใบสิ้นสุดลง
หลังจากที่ได้มีการประกาศโครงการและเป้าหมาย ตั้งแต่ “ระฆังใบที่ 5” เป็นต้นไป แสงประทีปแห่งความหวังในหัวใจของสมาชิกในญี่ปุ่นทั้งหมดก็ลุกโชนขึ้น แนวคิดและโครงการต่าง ๆ ดังกล่าว ก็ได้ปรากฏเป็นจริงขึ้นมาภายใต้การบัญชาการของอาจารย์อิเคดะ
ในต่างประเทศมีการศึกษาค้นคว้ากันอย่างไร?
สมาชิกเอสจีไอในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ได้ทำการศึกษาค้นคว้าพุทธธรรมที่ยิ่งใหญ่ของพระนิชิเร็นไดโชนิน โดยได้แปลเป็นภาษาของแต่ละประเทศ ในปัจจุบันมี “ธรรมนิพนธ์ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ” และ “หนังสือรวมธรรมนิพนธ์ทั้งหมดฉบับภาษาจีน” ยิ่งกว่านี้ ก็ยังมีฉบับภาษาฝรั่งเศส ฉบับภาษาเกาหลี ฉบับภาษาโปรตุเกส ฉบับภาษาสเปน และฉบับภาษาอิตาลี เป็นต้น
การที่ธรรมนิพนธ์ของพระนิชิเร็นไดโชนินได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ จำนวนมากเช่นนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมในประวัติศาสตร์ของพุทธธรรมแล้ว
สมาคมโซคาได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามพินัยกรรมของพระนิกโคโชนินที่มีใจความว่า “ธรรมนิพนธ์ของพระนิชิเร็นไดโชนินนั้น เมื่อถึงกาลเวลาแห่งการเผยแผ่ธรรมไพศาลแล้ว จะมีการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ และแผ่ขยายไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก” (ธรรมนิพนธ์หน้า 1613)
ธงสามสีที่ปักอยู่ตามอาคารสมาคมนั้น มีความหมายอย่างไร?
ธงสามสีของสมาคมโซคาถูกออกแบบขึ้นมาเป็นครั้งแรกโดยการนำเสนอของอาจารย์อิเคดะ ในการประชุมระดับหัวหน้าฝ่ายผู้ใหญ่หญิงครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1988 ว่า “ขอให้ออกแบบธงที่สอดคล้องกับยุคสมัย ในลักษณะที่มีความสดใสและสว่างไสว” 3 สีของธงคือ “แดง” “เหลือง” และ “น้ำเงิน” นั้น ก็มีความหมายหลายอย่างด้วยกัน
สำหรับสมาคมโซคาได้แสดงออกถึงความหมายของสี ดังนั้น สีแดง หมายถึง “ชัยชนะ” สีเหลือง หมายถึง “รุ่งโรจน์” สีน้ำเงิน หมายถึง “สันติภาพ”
สำหรับคณะผู้ใหญ่หญิงแล้ว สีแดงหมายถึง “ความสุขและสามัคคี” สีเหลืองหมายถึง “ใฝ่หาธรรม” และสีน้ำเงินหมายถึง “บุญกุศล”
เจตนารมณ์ที่สำคัญซึ่งมีอยู่ใน “วิชาการศึกษาสร้างคุณค่า” คืออะไรและได้รับการยอมรับอย่างไร?
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศญี่ปุ่นเดินอยู่บนหนทางของลัทธิชาตินิยม มีการศึกษาที่คิดเพียงแค่ว่า “เพื่อชาติ” เท่านั้น และตัววิชาการศึกษาเองก็เป็นเรื่องที่ห่างไกลจากการศึกษา ณ สถานที่ปฏิบัติงานจริง เป็นวิชาความรู้ที่เป็นนามธรรม
ท่ามกลางยุคสมัยดังกล่าว อาจารย์จึเนะซาบุโร่ มาคิงุจิ ประธานสมาคมท่านแรกได้เรียกร้องว่า เป้าหมายการศึกษานั้น ควรจะต้องเป็นไปเพื่อ “ความสุขของเด็ก” และชี้ให้เห็นถึง “วิชาการศึกษาเพื่อการปฏิบัติ” ที่จะเป็นพลังในการแก้ไขปัญหาที่เป็นจริงได้ ซึ่งถือได้ว่า เป็นแถลงการณ์แห่งการปฏิวัติการศึกษา
ดังที่อาจารย์มาคิงุจิกล่าวว่า “การศึกษาไม่ใช่การขายความรู้เป็นชิ้น ๆ หรือเป็นการบรรจุความรู้เข้าไป แต่เป็นการทำให้เข้าใจถึงการเรียนรู้ด้วยพลังของตนเอง เป็นการมอบกุญแจให้ไปเปิดคลังแห่งความรู้” ฉะนั้น สามารถกล่าวได้ว่า วิชาการศึกษาสร้างคุณค่านั้น เป็นการศึกษาเพื่อมนุษย์ ซึ่งจุดมุ่งหมายอยู่ที่การเปิดประตูปัญญาให้กับเด็ก และพัฒนาความสามารถในการสร้างชีวิตที่มีความสุขได้ด้วยตัวของพวกเด็ก ๆ เอง
อาจารย์โทดะ ประธานสมาคมฯ ท่านที่ 2 กล่าวด้วยความมั่นใจว่า “ขณะนี้ ‘วิชาการศึกษาสร้างคุณค่า’ แม้จะยังไม่เป็นที่ยอมรับว่า เป็นปรัชญาแห่งโลก แต่ 50 ปีผ่านไป บรรดาปัญญาชนแห่งโลกก็จะต้องยกย่องชมเชยถึงลักษณะมองการณ์ไกลของวิชาการศึกษาสร้างคุณค่าอย่างแน่นอน” และในวาระที่ระลึกครบ 10 รอบของการมรณกรรมของอาจารย์มาคิงุจิ อาจารย์โทดะได้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมด้วยตนเอง และจัดพิมพ์ “ทฤษฎีสร้างคุณค่า” (ซึ่งมีระบบวิชาการศึกษาสร้างคุณค่า เล่มที่ 2 อยู่ด้วย) ขึ้นมา และได้มอบให้กับสถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในโลก
นอกจากนี้ อาจารย์ไดซาขุ อิเคดะ ประธานสมาคมฯ ท่านที่ 3 ยังปรารถนาที่จะให้แนวความคิดเหล่านี้เผยแพร่ไปทั่วโลก “ระบบวิชาการศึกษาสร้างคุณค่า” จึงได้เริ่มแปลและจัดพิมพ์ออกมาเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาโปรตุเกส ภาษาเวียตนาม ภาษาฝรั่งเศส ภาษาสเปน ภาษาฮินติ และภาษาอิตาลี และได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง
ปัจจุบันมีโรงเรียนที่นำ “วิชาการศึกษาสร้างคุณค่า” ไปปฏิบัติอยู่ในบราซิลมากกว่า 100 โรงเรียน ที่อเมริกาก็ได้นำไปปฏิบัติที่ “โรงเรียนเรอเนซองส์” และในศูนย์การศึกษาเด็กเล็ก ของ จอห์น ดิววี่ ที่ประเทศปานามาด้วย
นอกจากนี้ มีการมอบรางวัลและใบประกาศเกียรติคุณยกย่อง อาจารย์มาคิงุจิ อาจารย์โทดะ และอาจารย์อิเคดะ จากทั่วโลกอย่างมากมายว่า เป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่แห่งการศึกษาเพื่อมนุษย์
การเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพของสมาคมโซคาเป็นอย่างไร?
สมาคมโซคาดำเนินการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างสันติภาพอย่างต่อเนื่องโดยมีฝ่ายยุวชนชาย-หญิงเป็นผู้ปฏิบัติหลัก
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1973 ฝ่ายยุวชนชาย-หญิงได้จัดตั้ง “สมัชชายุวชนปกป้องสิทธิในการดำรงชีวิต” ซึ่งภายหลักได้พัฒนาเป็น “สมัชชายุวชนโซคาเพื่อสันติภาพ” เริ่มต้นทำการเคลื่อนไหวโดยรับเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวเวียดนาม
นอกจากนี้ ในช่วงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1973 จนถึงฤดูร้อนในปีถัดไป ได้ทำการเคลื่อนไหว “รวบรวมรายชื่อ 10 ล้านคนเพื่อต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์” และในเดือนมกราคม ค.ศ. 1975 อาจารย์อิเคดะก็ได้ยื่นรวบรวมรายชื่อเหล่านี้ต่อสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติด้วยมือของท่านเอง
ยิ่งกว่านั้น ยังได้ดำเนินกิจกรรมในการจัดพิมพ์หนังสือต่อต้านสงครามของผู้มีประสบการณ์สงคราม ให้แก่คนรุ่นหลังมาตลอดมากกว่า 100 เล่ม เช่น ฝ่ายยุวชนชาย-หญิงได้จัดทำหนังสือเรื่อง “มอบแด่คนในสมัยที่ไม่รู้จักสงคราม” ออกมาเป็นตอน ๆ ต่อเนื่องกันจำนวน 80 ตอน (เล่ม) ฝ่ายผู้ใหญ่หญิงก็ได้ทำหนังสือเรื่อง “ข้อเรียกร้องเพื่อสันติภาพ” ออกมาเป็นตอน ๆ เช่นกัน จำนวน 20 ตอน (เล่ม) เป็นต้น
ทางสมาคมโซคา นอกจากจะช่วยเหลือและสนับสนุนองค์การสหประชาชาติอย่างกระตือรือร้นเพื่อแก้ไขปัญหาระดับโลก ในฐานะที่เป็นเอ็นจีโอ (องค์กรพัฒนาเอกชนของสหประชาชาติ) ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) และเอ็นจีโอของศูนย์ประชาสัมพันธ์สหประชาชาติ (ยูเอ็นไอซี) แล้ว ทางสมาคมโซคาสากล (เอสจีไอ) ยังได้ดำเนินการในฐานะเป็นเอ็นจีโอของคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมขององค์การสหประชาชาติอีกด้วย
การเคลื่อนไหวดังกล่าว ได้ดำเนินการไปในแง่มุมต่าง ๆ เช่น ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การลดอาวุธนิวเคลียร์ การศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน การปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ตัวแทนเอสจีไอได้เข้าร่วมการประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกัน ในระหว่างผู้เกี่ยวข้องแต่ละประเทศ เช่น “การประชุมสิทธิมนุษยชนโลก” “การประชุมเพื่อลดอาวุธของสหประชาชาติเกียวโต” “การประชุมเพื่อลดอาวุธของสหประชาชาติที่ฮิโรชิม่า” เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนไหวเพื่อเสริมความเข้าใจโดยผ่านการจัดงานนิทรรศการ “งานนิทรรศการการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์” ซึ่งได้จัดขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1982 โดยเปิดการแสดงใน 24 ประเทศ 39 เมือง มีผู้เข้าชมประมาณ 1,700,000 คน [ที่ประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2531 (ค.ศ. 1988) ได้จัดนิทรรศการ “อาวุธนิวเคลียร์-ภัยคุกคามโลก” ที่ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย ร่วมกับองค์กรเอสจีไอ องค์การสหประชาชาติ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย] และได้จัดงานแสดงนิทรรศการ “สิทธิมนุษยชนโลกในปัจจุบัน”เพื่อเป็นการสนับสนุน “10 ปีแห่งการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน” ขององค์การสหประชาชาติ ตามสถานที่ต่าง ๆ รวม 8 ประเทศ 40 เมืองหมุนเวียนกันไป เช่น ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติบุโรป เมืองเจนีวา กรุงโรม และเมืองมอนตาริโอ เป็นต้น