สมาคมสร้างคุณค่าสากล

ธงสัญลักษณ์ของสมาคมสร้างคุณค่าสากล

งค์กรเอสจีไอ หรือ สมาคมสร้างคุณค่าสากล (Soka Gakkai International : SGI) ก่อตั้งโดย ดร.ไดซาขุ อิเคดะ เมื่อวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1975 เป็นองค์กร NGO (Non Governmental Organization องค์กรพัฒนาเอกชนของสหประชาชาติ) ที่มีสมาชิกมากกว่า 12 ล้านคน ใน 192 ประเทศและเขตการปกครอง (ข้อมูลปี ค.ศ. 2008) สำหรับสมาชิกเอสจีไอนั้น พุทธธรรมของพระนิชิเร็นไดโชนินก็คือ ปรัชญาแห่งการเพิ่มพลังศักยภาพให้กับบุคคลแต่ละคน และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายใน ซึ่งสามารถทำให้ประชาชนสามารถพัฒนาตนเองและรับผิดชอบต่อชีวิตของตนเองได้

ในฐานะผู้ปฏิบัติศรัทธา สมาชิกเอสจีไอ จะเพียรพยายามในชีวิตประจำวัน โดยให้เกิดความสามารถพัฒนาศักยภาพในการดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจ สร้างคุณค่าได้ในทุกสถานการณ์ ช่วยเหลือเพื่อน ๆ ครอบครัว และท้องถิ่นของตน

กิจกรรมของเอสจีไอ

สมาชิกเอสจีไอ
  1. ส่งเสริมสันติภาพ วัฒนธรรม และการศึกษาไปสู่ทั่วโลก โดยอยู่บนพื้นฐานของพุทธธรรมของพระนิชิเร็นไดโชนิน
  2. ส่งเสริมให้ทั่วโลกเกิดสันติภาพ โดยการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนธรรมดาของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
  3. ส่งเสริมการศึกษาและปฏิบัติพุทธธรรมของพระนิชิเร็นไดโชนิน ซึ่งเป็นคำสอนแห่งสันติภาพที่แท้จริง ด้วยพื้นฐานเช่นนี้มุ่งให้ทุกคนเป็นพลเมืองที่ดีตามขนมธรรมเนียมและกฎหมายของแต่ละประเทศ

กฎบัตรเอสจีไอ

กฎบัตรเอสจีไอ ได้มีการประกาศขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 1995 ในที่ประชุมหัวหน้าระดับภาคครั้งที่ 93

กฎบัตรนี้ ซึ่งได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรถึงแนวปรัชญาและหลักเกณฑ์ในการเคลื่อนไหวของเอสจีไอไว้อย่างชัดเจนนั้น ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการยกร่างกฎบัตรเอสจีไอมาหลายครั้ง และบัญญัติขึ้นมาโดยได้รับความเห็นชอบจากประเทศต่าง ๆ ในเครือข่ายเอสจีไอ

ในคำนำของกฎบัตร ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า “พวกเราสมาชิกและหมู่คณะทั้งหมด ที่ประกอบขึ้นเป็นองค์กรโซคาสากล (เอสจีไอ) นั้น มีความมุ่งมั่นในการบำเพ็ญคุณประโยชน์เพื่อ การศึกษา วัฒนธรรม และสันติภาพ โดยยึดถือพุทธธรรมเป็นพื้นฐาน”

และได้ทำให้เกิดเป็นกฎบัตร 10 ข้อ ดังต่อไปนี้

  1. เอสจีไอ จะส่งเสริมการศึกษา วัฒนธรรม และสันติภาพของมวลมนุษยชาติ โดยอยู่บนพื้นฐานของพุทธธรรมที่ให้ความเคารพศักดิ์ศรีของชีวิต
  2. เอสจีไอ ในฐานะพลเมืองโลก จะปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยไม่แบ่งแยกความแตกต่างระหว่างชนชาติ
  3. เอสจีไอ จะเคารพและปกป้องเสรีภาพในการนับถือศาสนา
  4. เอสจีไอ จะส่งเสริมความเข้าใจในพุทธธรรมของพระนิชิเร็นไดโชนินให้กว้างขวาง ด้วยการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในหมู่ประชาชน และทำให้แต่ละคนบรรลุถึงซึ่งความสุขได้
  5. เอสจีไอ จะส่งเสริมสมาชิกให้เป็นพลเมืองดี และบำเพ็ญคุณประโยชน์ในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองในแต่ละสังคม ในแต่ละบ้านเมือง
  6. เอสจีไอ จะเคารพในเสรีภาพและความเป็นเอกเทศของแต่ละองค์กรที่อยู่ในเครือข่าย โดยให้สอดคล้องกับสภาพทั่วไปของแต่ละประเทศ
  7. เอสจีไอ จะให้ความเคารพต่อศาสนาอื่น จะพูดคุยสนทนาและแสวงหาความร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานเกี่ยวกับมนุษยชาติ โดยอยู่บนพื้นฐานแห่งเจตนารมณ์เมตตาธรรมของพุทธศาสนา
  8. เอสจีไอ จะเคารพต่อความหลากหลายของวัฒนธรรม และส่งเสริมสมาชิกให้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เพื่อสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเป็นชุมชนสากลที่มีความสมัครสมานสามัคคีกัน
  9. เอสจีไอ จะส่งเสริมและรณรงค์ให้เกิดการปกป้องคุ้มครองธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานของพุทธปรัชญาแห่งการอยู่ร่วมกัน
  10. เอสจีไอ จะสนับสนุนการส่งเสริมการศึกษาในแนวทางแห่งการค้นคว้าหาความจริง พร้อมทั้งพัฒนาความรู้และการศึกษา เพื่อทำให้ประชาชนสามารถเสริมสร้างบุคลิกลักษณะของแต่ละคน และนำมาซึ่งชีวิตที่มีความสุข

ในแต่ละประเทศจะอยู่ภายใต้ธงแห่งกฎบัตรเอสจีไอที่ยืนหยัดใน “แนวคิดแห่งพลเมืองโลก” “เจตนารมณ์แห่งจิตใจที่กว้างขวาง” และ “การให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน” พร้อมกับการเคลื่อนไหวต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาของมวลมนุษยชาติ และสร้างคุณประโยชน์แก่สังคมมนุษย์

วารสารสู่ความสุข